10 February 2018

Number of Visitors 129  

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้จัดเสวนา เรื่อง แนวทางแก้ไขปัญหารสูบบุหรี่ในพระสงฆ์ ณ.ห้องประชุมศรีปริยติ วัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีพระครูธีรสุตาพจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขตเชียงใหม่ เป็นประธาน พร้อมวิทยากรรับเชิญอาทิ พระครูพิพิธสุตาทร (พระมหาดร.บุญช่วย สิรินธโร ) อาจารย์ประจำ มจร.วิทยาเขตเชียงใหม่, พระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต, อาจารย์ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ นักเขียน นักวิชาการอิสระ มีผู้เข้ารับฟังจากแกนนำนิสิตที่ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ มจร.ปลอดบุหรี่ โดยมีประเด็นจากเวทีเสวนาดังนี้


พระครูพิพิธสุตาทร (พระมหา ดร.บุญช่วย สิรินธโร) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ และเลขาธิการเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่า ถ้าพูดถึงการแก้ไขปัญหารสูบบุหรี่ในมหาวิทยาลัยหรือในกลุ่มพระสงฆ์พบว่ามีเครื่องมือสำคัญ 2 ประการได้แก่ 1) พระธรรมวินัย ถ้าพูดเรื่องศีล 5 ไม่มีข้ออาบัติหรือบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิด เป็นเรื่องของศีลแต่ละคน ผิดศีลก็ไม่มีอะไร กรณีพระสงฆ์ต้องเพิ่มในหลักพระธรรมวินัยข้อใดหรือเปล่า เช่น การสูบบุหรี่ในพระสงฆ์ในศีล 227 ข้อ มีอยู่ในวินัยข้อใดเมื่อทำผิดแล้ว จะอาบัติกลาง อาบัติเบาอย่างไร

อันนี้ก็นาสนใจเพราะเราทำงานกับพระสงฆ์ เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ ศีล 5 เข้าใจกับสังคมชาวบ้าน สำหรับพระสงฆ์ต้องปฏิบัติตามธรรมวินัย ถ้าไม่ทำตามพระวินัยก็ต้องอาบัติ แล้วต้องปลง ที่จริงในการบริโภคปัจจัย 4 มีข้อโยนิโสมนสิการ การบริโภคแบบพิจารณาแยบคาย อันนี้สามารถขยายไปเรื่องอื่นได้เลย เช่น การดื่มน้ำอัดลมและอีกสารพัดเรื่องที่ทำลายสุขภาพ แต่ไม่ได้ทำในชีวิตจริง อันนี้คือเครื่องมือสำคัญ หากทำให้เกิดในชีวิตจริงของการดำเนินชีวิตตามแนวทางพระพุทธศาสนาได้น่าจะดี


ประการต่อมา อินทรีย์สังวรการสำรวมในการบริโภค การเข้าทางปากแล้วสนุกสนาน การไม่สำรวจอินทรีย์ ช่วยเรื่องการรักษาศีล การปฏิบัติตามพระธรรมวินัย 2) กฏหมาย ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัย กฏหมายระบุชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่แต่ไม่ร้อยเปอร์เซนต์ ในมหาวิทยาลัยจต้องจัดพื้นที่สูบบุหรี่ วิทยาเขตอื่นๆ เขาใช้ระบบนี้ก็คือต้องจัดพื้นที่สูบบุหรี่ หากไม่จัดเราอาจจะถูกฟ้องได้ แต่กรณี มจร.วิทยาเขตเชียงใหม่เป็นวัดและสถานศึกษา ตามกฏหมายระบุ ต้องเป็นเขตปอดบุหรี่ร้อยเปอร์เซนต์ หากไม่ดำเนินการเราอาจจะถูกจับ ปรับตามประมวลกฏหมายอาญา วันนี้ถือว่าพวกเราทำงานช่วยวัด

พระครูพิพิธสุตาทร ยังกล่าวอีกว่า หลักธรรมสำคัญอันหนึ่งก็คือหลักอริยะวินัย รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบอริยะ เริ่มตั้งแต่สิ่งเหล่านี้ เช่น คนที่เป็นอริยะจะต้องใช้ชีวิตที่ป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สังคม สอดคล้องกับเรื่องทิศ 6 คือ พระสงฆ์ ในฐานะที่เป็นทิศเบื้องบน ปฏิบัติต่อฆราวาสที่เป็นทิศเบื้องล่าง จะต้องสอนวิถีปฎิบัติที่เป็นอริยวินัยกับญาติโยม ขณะเดียวกันพระสงฆ์ยังปฏิบัติไม่ถูกต้อง เราจะต้องทำหน้าที่นั้นได้อย่างสมบูรณ์เสียก่อน

ด้าน อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ นักวิชาการอิสระ มองว่าปัจจุบันยังขาดความชัดเจนเรื่องการสูบบุหรี่ผิดศีลหรือไม่ เพราะยังมีการถกเถียงในมุมต่างๆ แต่ประเด็นสำคัญคือหากเราสามารถทำให้ท่านรู้สึกว่าอยากเลิกเพาะคิดว่าตัวเองเป็นนักบวชน่าจะมีความสำคัญมากกว่าการบังคับ เพราะผลต่อการตระหนักรู้มีความสำคัญที่สุด ท่านมองว่าเรื่อการตระหนักรู้ถูกพูดถึงน้อยมากในกลุ่มพระสงฆ์ด้วยกันเอง ต่างจากบุคคลากรในวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น วงการแพทย์ มีควาชัดเจนตั้งแต่สมัยเรียนว่าไม่สามารถสูบบุหรี่ให้บุคคลทั่วไปเห็นได้ ปัจจุบันนักเรียนแพทย์ตระหนักถึงส่วนนี้พอสมควร

ความตระหนักแบบนี้น่าจะมีความสำคัญในวงการสงฆ์ไม่เกี่ยวกับประเด็นทางสุขภาพ พระสงฆ์เป็นผู้นำที่ใช้ชีวิตในมิติของการเป็นผู้นำทางจิตใจ กระบวนการตระหนักรู้คือกระบวนการที่สำคัญ น่าจะมีการศึกษาวิจัยในประเด็นการตระหนักรู้ ไม่เพียงแต่สร้างภาพลักษณ์ แต่การสูบบุหรี่ เราไม่ค่อยเห็นฆราวาส แต่เห็นพระสงฆ์สูบบุหรี่ แสดงว่าทางคณะสงฆ์ไม่สนใจการสูบบุหรี่ หรือมองว่าเป็นเรื่องปกติหรือเปล่า

พระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มองว่า การสูบบุหรี่ของพระสงฆ์ถูกละเลยจนเป็นเรื่องปกติ พอวันนี้มีโครงการไปจุดประกายว่าการสูบบุหรี่ในสถานศึกษาเป็นเรื่องผิดกฏหมายและไม่เหมาะสมกับพระสงฆ์ วัดต้องปฏิบัติตามกฏหมาย แม้แต่สถานศึกษา ก็เกิดการตื่นตัวในเรื่องนี้ อย่างกรณี มจร.ส่วนกลางทำกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักจนพบว่า มีสามเณรประกาศว่าอยากเลิก แสดว่าเขาเริ่มตระหนัก ในส่วนผู้บริหาร ไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วย แต่ท่าที วิธีการปฏิบัติ ลึกๆ ท่านยังสับสน ความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ท่านปฏิบัติบางที ญาติโยมมาถวายจนเป็นเรื่องปกติ แต่วันนี้ชัดเจนทุกฝ่ายได้ตระหนัก เราต้องเป็นยอดพระ เป็นต้นแบบให้ญาติโยม ไม่ใช่เป็นเพียงภาพลักษณ์ หรือเฉพาะในมหาวิทยาลัย แต่เป็นเป้าหมายของนักบวชในพุทธศาสนา

พระครูธีรสุตาพจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขตเชียงใหม่สะท้อนว่า แม้เรื่องการสูบบุหรี่จะไม่ปรากฏในพระธรรมวินัย อาศัยการตีความ ทั้งโลกวัชชะ แต่พูดถึงหลักการที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้ว่า ข้อที่จะพิจารณาว่าอะไรคือพระธรรมวินัยให้ดูจากเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 1. วิราคะ คือ ความคลายกำหนัด, ความไม่ติดพัน เป็นอิสระ 2.วิสังโยค คือ ความหมดเครื่องผูกรัด, ความไม่ประกอบทุกข์ มิใช่เพื่อผูกรัด หรือประกอบทุกข์ 3.อปจยะ คือ ความไม่พอกพูนกิเลส มิใช่เพื่อพอกพูนกิเลส 4.อัปปิจฉตา คือ ความอยากอันน้อย, ความมักน้อย มิใช่เพื่อความอยากอันมาก 5.สันตุฏฐี คือ ความสันโดษ มิใช่เพื่อความไม่สันโดษ 6.ปวิเวก คือ ความสงัด มิใช่เพื่อความคลุกคลีอยู่ในหมู่ 7.วิริยารัมภะ คือ การประกอบความเพียร มิใช่เพื่อความเกียจคร้าน 8.สุภรตา คือ ความเลี้ยงง่าย มิใช่เพื่อความเลี้ยงยาก หากพิจารณาแล้วว่าการสูบบหรี่เกิน 4 ข้อ ก็ถือว่าผิดพระธรรมวินัยชัดเจน